วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ประวัติจังหวัดพะเยา

ประวัติจังหวัดพะเยา

“พะเยาเป็นเมืองเก่าเมืองหนึ่งแห่งล้านนาไทย เดิมมีชื่อว่า “ภูกามยาว” หรือ พยาว แปลว่า หมู่บ้านดอยยาว ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2506
โดยพ่อขุนศรีจอมธรรม กษัตริย์ราชวงศ์ลัวะจักราชหิรัญนครเงินยางเชียงแสน และเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในสมัยพ่อขุนงำเมือง
ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามอิทธิพลของอาณาจักรต่าง ๆ ที่ผลัดกันมีอำนาจในแถบนี้ จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พยาวเปลี่ยนชื่อเป็นพะเยา
และรวมอยู่กับจังหวัดเชียงราย จนในปี พ.ศ. 2520 จึงได้รับจัดตั้งขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา
พะเยาอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 735 กิโลเมตร มีพื้นที่ 6,353 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ ได้แก่


  1. อำเภอเมืองพะเยา
  2. อำเภอแม่ใจ
  3. อำเภอดอกคำใต้
  4. อำเภอจุน
  5. อำเภอปง
  6. อำเภอเชียงคำ
  7. อำเภอเชียงม่วน
  8. อำเภอภูกามยาว
  9. อำเภอภูซาง

พะเยาเป็นเหมือนเมืองผ่านที่นักท่องเที่ยวมักมองข้ามและเลยไปเที่ยวจังหวัดเชียงรายเสียมากกว่า
แต่พะเยาก็เป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามมีชื่อหลายแห่งโดยเฉพาะป่าเขาพนาไพรที่ยังคงสมบูรณ์ ดูร่มรื่นด้วยต้นไม้ที่ยังเต็ม
พื้นที่ของจังหวัดจากอดีตจนถึงปัจจุบันป่าไม้ก็ยังอุดมสมบูรณ์เขียวขจี ทำให้ทัศนียภาพและอากาศของพะเยา ร่มรื่น สดชื่น ร่มเย็น
มีกว๊านพะเยาที่สามารถชมพระอาทิตย์ตกยามเย็นได้สวยงาม มีผลไม้ที่ขึ้นชื่อและมีรสหวานไม่แพ้ที่ไหน ๆ คือลิ้นจี่ ซึ่งจะออกมากในช่วงเดือนพฤษภาคม
นอกจากนั้นพะเยายังมีผลิตภัณฑ์เด่นหลายอย่างที่กระจายกันอยู่ในอำเภอต่าง ๆ เช่นเดียวกันกับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ตระการตา
และโบราณสถานที่เก่าแก่นับร้อยปีให้นักท่องเที่ยวได้มาเยี่ยมชม”

คำขวัญประจำจังหวัดพะเยา

" กว๊านพะเยาแหล่งชีวิต ศักดิ์สิทธิ์พระเจ้าตนหลวง
บวงสรวงพ่อขุนงำเมือง งามลือเลื่องดอยบุษราคัม "

วัดอนาลโย


วัดอนาลโย ดอยบุษราคัม ตั้งอยู่หมู่บ้านสันป่าบง หมู่ที่ 6 ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีเนื้อที่ทั้งหมด 2,800 ไร่ เริ่มการก่อสร้างโดย พระอาจารย์ไพบูลย์ สุมังคโล ขณะท่ารอยู่วัดรัตวนาราม ท่านมีปรากฎการณ์เห็นทรายทองไหลลงมาสู่วัดเป็นสายรังสี แสงของทรายทองที่ไหลพรั่งพรูราวกับสายน้ำนั้นอาบวัดทั้งวัดแทบจะกลายเป็นวัดทองคำ ท่านมองทวนลำแสงสีทองไป ก็เห็นเขาที่อยู่อีกฟากหนึ่งของกว๊านพะเยานั้นเอง จากนั้นได้มีโยมอาราธนาไปดู สถานที่สำคัญและแปลกประหลาดเพื่อจะได้สร้างสำนักสงฆ์ไว้เป็นที่บำเพ็ญกุศลของชาวบ้าน คือชาวบ้านมักจะเห็นแสงสว่างเป็นดวงกลมล่องลอยไปมาอยู่บนดอยสูง แสงนั้นดูสว่างเรื่องรองบางทีก็สว่างจ้าเป็นสีเหลืองสดอาบทั้งดอยราวกับเป็นดอยทองคำ เหตุการณ์เหล่านี้มักปรากฎในวันสำคัญทางพุทธศาสนา เช่นวันพระ 8 หรือ 15 ค่ำ เป็นต้น หลังจากที่พิจารณาดูสถานที่แล้วเห็นว่าเป็นสถานที่สวยเหมาะสมแก่การเจริญเมตตาภาวนาเป็นอย่างยิ่ง ควรที่จะสร้างให้เป็นสถานที่พักปฏิบัติธรรม สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ เป็นองค์ประธานพิธีวางศิลาฤกษ์ ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2525 เวลา 12.45 นาฬิกา จากนั้นก็ได้สร้างสิ่งต่างๆมาจนปรากฏเห็นอยู่ในปัจจุบัน แต่มีอุปสรรคสำคัญอยู่ประการหนึ่งที่ทำให้วัดต้องขบคิดหนักคือ “การขาดแคลนน้ำ” ระหว่างที่ท่านกำลังครุ่นคิดหาทางแก้ไข วันหนึ่งท่านพระอาจารย์ไพบูลย์ด้รับอาราธนานิมนต์ไปเจริญพระพุทธมนต์ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณในพระบรมหาราชวัง ขณะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรมมาถึงท่านอาจารย์ทรงมีพระราชปฏิสันถารว่า “ทราบข่าวว่าท่านอาจารย์ได้ไปสร้างสำนักสงฆ์บนเขาสูงที่จังหวัดพะเยาทางฟากกว๊าน คงจะขาดแคลนน้ำ ไม่เป็นไรผมจะปรึกษากรมชลประทานให้” วันพุธที่ 18 มกราคม 2527 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมนมัสการพระอาจารย์ไพบูลย์ สุมังคโล หัวหน้าสำนักสงฆ์อนาลโยเป็นการส่วนพระองค์ ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น ทรงสราญพระราชหฤทัยเป็นที่ยิ่ง ทรงสนทนาธรรมแล้วทรงเสวยพระกระยาหารค่ำ ณ ที่ประทับรับรองของสำนักสงฆ์อนาลโย ประทับอยู่ตั้งแต่เวลา 15.00 น. จนถึงเวลา 20.00 น. จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับและได้ทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทาน จัดสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ต๋อม และอ่างเก็บน้ำห้วยทับช้างเพื่อผันน้ำมาใช้บนสำนักสงฆ์ และจ่ายไปยังไร่นาของประชาชน จึงนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมเป็นที่สุด กระทรวงศึกษาธิการและมหาเถรสมาคม อนุญาตให้เป็นวัดโดยสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2530 และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้วัดอนาลโย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ประกาศ ณ วันที่ 18 มกราคม 2531 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2532 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสสาธิราชฯ สบยามกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ทรงตดลูกนิมิตอุโบสถและทรงเปิดวัดอนาลโยโดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างสิ่งทั้งหมดรวม 6 ปี เศษ

วัดศรีโคมคำ



วัดศรีโคมคำ หรือวัดพระเจ้าตนหลวง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญได้สร้างมานานพร้อมกับการสร้างพระเจ้าตนหลวง เมื่อประมาณ พ.ศ.2034 โดยอยู่ในความอุปถัมภ์ของพระเมืองแก้ว เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ และพระยาเมืองตู้ เจ้าผู้ครองเมืองพะเยา ในสมัยนั้นเจ้าอาวาสองค์แรกที่ปรากฎในตำนาน คือ พระธรรมปาล ท่านผู้นี้ได้ทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่คือ ได้เขียนตำนานพระเจ้าตนหลวงออกเผยแพร่แก่ประชาชนอยู่ต่อมาอีกประมาณ 404 ปี จุลศักราช 1219 (พ.ศ. 2400) พระกัปปินะ เป็นเจ้าอาวาสอีกครั้งหนึ่ง มีบันทึกหนังสือสมุดข่อยไว้ว่า แสนทักษิณะเยนดวงชะตาพระเจ้าตนหลวง มีพระธรรมปาลเขียนไว้มาให้ท่านได้รับทราบว่าวัดศรีโคมคำเป็นวัดมาแต่โบราณกาล แต่มาในยุคหลังๆ บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะสงคราม ทำให้บ้านเมืองอยู่ไม่เป็นปกติสุขต้องอพยพโยกย้ายไปอยู่ตามหัวเมืองที่ปลอดภัยจากข้าศึก ทำให้บ้านเมือง วัดวาอารามรกร้างว่างเปล่าไป ต่อมาภายหลังได้สถาปนาเมืองพะเยาขึ้น บ้านเมืองก็ดี วัดวาอารามก็ดี ก็ได้รบการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ตามลำดับ
วัดศรีโคมคำได้เริ่มก่อสร้างพระวิหารครั้งหลังสุดเมื่อ พ.ศ. 2465 พระครูศรีวิราชวชิรปัญญา เจ้าคณะแขวงเมืองพะเยา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ทางฝ่ายบ้านเมืองคือ พระยาประเทศอุดรทิศ เจ้าผู้ครองเมืองพะเยา และหลวงสิทธิประศาสน์ (คลาย บุษบรรณ) นายอำเภอเมืองพะเยา คนแรกร่วมกันไปอาราธนาท่านครูบาศรีวิชัย จากจังหวัดลำพูนมาเป็นประธาน นั่งหนักในการก่อสร้างพระวิหารหลวงและเสนาสนะต่างๆ จำสำเร็จบริบูรณ์ โดยพระครูศรีวิราชวชิรปัญญา ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ เป็นองค์แรก ปัจจุบันพระธรรมวิมลโมลี (ปวง ธมฺมปญฺโญ) ได้ดำรงตกแหน่งเจ้าอาวาส ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2511 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2523




พระเจ้าตนหลวง เป็นพระพุทธรูปศิลปเชียงแสนที่ใหญ่ที่สุดในล้านนา ขนาดหน้าตักว้าง 14 เมตร สูง 16 เมตร สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2034-2067 ชาวพะเยาถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ในเดือนหก (ประมาณพฤษภาคม) จะมีงาน นมัสการพระเจ้าตนหลวง เดือนแปดเป็ง” จะมีประชาชนในจังหวัดพะเยาและจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก



พระอุโบสถกลางน้ำ พระอุโบสถหลังใหม่ของวัดศรีโคมคำ ตั้งอยู่ริมกว๊านพะเยา เป็นศิลปะแบบล้านนาประยุกต์ สร้างขึ้นโดยศรัทธาประชาชน ซึ่งบริษัท มติชนจำกัด โดยคุณขรรค์ชัย บุนปาน เป็นผู้ประสานงาน คุณนิยม สิทธหาญ มัณฑนากรจากมหาวิทยาลัยศิลปกร และคุณจินดา สหสมร สถาปนิกจากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยร่วมกันออกแบบ
จิตรกรรมฝาผนัง เขียนโดยคุณอังคาร กัลยาณพงษ์ และคุณภาพตะวัน สุวรรณกูฏ และทีมงาน

การเดินทาง
ท่านที่อยู่ต่างจังหวัดสามารถ นั่งรถโดยสารประจำทาง มาลงที่สถานีขนส่งจังหวัดพะเยา และ ขึ้นรถตุ๊ก ๆ หรือนั่งวินมอเตอร์ไซค์ จากขนส่ง มาลงที่หน้าวัดได้เลย ระยะทางจากสถานีขนส่ง มาถึงวัด ประมาณ 700 เมตร
เท่านี้ท่านก็สามารถเยี่ยมชมความงาม ของวัดศรีโคมคำ เพื่อนกราปนมัสการ พระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวพะเยา เพื่อความเป็นศิริมงคล แก่ตนเอง สมความตั้งใจ